แมลงที่ว่าร้ายนัก ในประเทศไทยปลวกเป็นแมลงที่นับว่าเป็นศัตรูสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเกษตร ป่าไม้ เช่น การทำลายต้นไม ้ ที่ยังไม่ตัดโค่นและที่โค่นแล้ว ทำความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้าง เครื่องเรือน วัสดุต่างๆ ที่ทำด้วยไม้และฝ้าย เป็นต้น
จากผลการสำรวจความเสียหายดังกล่าวข้างต้น ประมาณได้ว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยล้านบาทต่อปี นับว่าปลวก เป็นแมลงที่ทำลายเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง จควรทำความรู้จักถึงชนิดและความเป็นอยู่ของปลวก เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการป้องกันกำจัดต่อไป
ปลวกเป็นแมลงที่มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า เทอร์ไมต์ (Termite) หรือบางทีเรียกว่ามดสีขาว (White ant) จัดเป็นแมลงในอันดับไอสอปเทอรา (Order Isoptera) ในอันดับนี้มี ปลวกวงศ์ใหญ่อยู่ 3 วงศ์ คือ วงศ์ Kalotermitidae วงศ์ Termitidae และวงศ์ Rhinotermitidae ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในโลกใบนี้เราพบปลวกประมาณ 2,000 ชนิด เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประมาณ 270 ชนิด พบในประเทศไทย ประมาณ 90 ชนิด ปลวกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศมีเพียง 11 ชนิด
สำหรับพวกที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือนที่ทำด้วยวัสดุไม้คือ
- ปลวกไม้แห้ง (Drywood termites) เป็นปลวกที่สามารถดำรงชีวิตได้ในเนื้อ ไม้ที่แห้งสนิท เมื่อปลวกกัดกินเนื้อไม้จะทิ้งมูลมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายเมล็ดฝิ่นออกจากรูที่มีขนาดเล็ก ในประเทศไทยพบชนิดสำคัญ 2 ชนิด คือ Cryptotermes thailandis และ Cryptotermes domesticus ซึ่งทำลายวัสดุที่ทำด้วยไม้ในอาคารบ้านเรือน
- ปลวกใต้ดิน (Subterranean termites) เป็นปลวกที่อาศัยอยู่ใต้ดินเกือบตลอดอายุของมันและนับเป็นประเภทที่เป็นภัยร้ายแรงต่ออาคาร และสิ่งก่อสร้าง เพราะความเสียหายที่เกิดจากปลวกพวกนี้มีถึง 95% ชนิดที่สำคัญ 2 ชนิด คือ Coptotermes gestroi และ Globitermes sulphureus ปลวกจะขึ้นมาหาอาหารโดยการทำท่อทางเดินหรืออุโมงค์ด้วยดินเพื่อใช้เป็นทางเดินไปยังแหล่งอาหาร เช่น ตามผิวไม้ คอนกรีต สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตามรอยแตกหรือช่องระหว่างพื้นบ้านกับพื้นดิน ถ้าระยะไม่ห่างเกินไปปลวกจะสร้างท่อทางเดินข้ามไปได้ ในเนื้อไม้ ที่ปลวกใต้ดินเจาะทำลายภายในแล้ว จะเหลือส่วนนอกไว้เป็นแผ่นบางๆ ตอนในที่กลวงมันจะใช้ดินอุดตามช่องว่างไว้ไม่ให้ผิวไม้ยุบ
ปลวกอาศัยอยู่รวมกันเป็นสังคม
ในแต่ละสังคมแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ตามรูปร่างและหน้าที่การทำงาน คือ ปลวกแม่รังและพ่อรัง (ปลวกราชินี-ราชา หรือปลวกตัวเมียและตัวผู้) ปลวกทหารและปลวกกรรมกร
ปลวกตัวเมียและตัวผู้ คือปลวกที่มีปีกบินได้ เราเรียกว่า แมลงเม่าซึ่งจะออกมาบินเล่นไฟในช่วงก่อนฝนตก มีหน้าที่กระจายพันธุ์และจัดตั้งสังคมหรือรังใหม่ เมื่อแมลงเม่าผสมพันธุ์กันแล้วสลัดปีกหลุดจะมุดตัวลงในดินเพื่อวางไข่และสร้างรังต่อไป ปลวกตัวเมียจะพัฒนาตัวเองเป็นปลวกแม่รัง ทำหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่เพียงอย่างเดียว ปลวกคู่แรกที่ทำหน้าที่เป็นราชินีและราชาของรังบางตัวมีอายุได้นานเกือบ 25 ปี และวางไข่ได้มากถึงวันละ 30,000 ฟอง ความสามารถในการวางไข่จะขึ้นอยู่กับจำนวนปลวกกรรมกร แมงเม่าในขณะที่ไข่เจริญเป็นตัวอ่อนและตัวแก่ภายในระยะ 30-50 วันนั้น ปลวกราชินีจะเป็นตัวควบคุมตัวอ่อนให้พัฒนาบทบาทเป็นแบบต่างๆ คือ เป็นตัวผู้-ตัวเมีย เป็น ปลวกกรรมกร หรือทหารปลวกกรรมกร มีปริมาณมากที่สุดกว่า 90% นั้น ลักษณะไม่มีปีก ส่วนปากมีขากรรไกรแบบฟันเลื่อยเหมาะ สำหรับตัดไม้ เจาะไม้ สิ่งก่อสร้างต่างๆ มีหน้าที่สร้างซ่อมแซมรัง หาอาหารเลี้ยงดู ปลวกอื่นๆ ปลวกกรรมกรเป็นหมัน ผสมพันธุ์และสืบพันธุ์ไม่ได้ ปลวกทหาร ซึ่งมีจำนวนน้อยมากสังเกตเห็นลักษณะที่แตกต่างจากปลวกกรรมกร คือ มีหัวโตผิดปกติ ไม่มีตาที่มองเห็นได้ ส่วนของปากมีขากรรไกรขนาดใหญ่รูปลักษณะคล้ายคีมหรือดาบ เหมาะสำหรับใช้ในการต่อสู้แต่ไม่สามารถใช้ตัดหรือเจาะได้จึงมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อป้องกันอันตรายให้ปลวกภายในรัง โดยเฉพาะศัตรูสำคัญ คือ มดเมื่อศัตรูทำลายทางเดินหรือรัง มันจะเอาส่วนหัวที่โตอุดช่องโหว่หรือขับไล่ศัตรูจนกว่าจนกว่าปลวกกรรมกร จะทำการซ่อมรังเรียบร้อย ปลวกทหารบางชนิดสามารถกลั่นของเหลวที่มีพิษเป็นกรดเหนียวๆ ออกจากส่วนหัวของมัน เมื่อมดมาถูกจะเหนียวติดและหมดกำลัง นอกจากนี้กรดที่ปลวกทหารกลั่นออกมายังใช้ในการเจาะโลหะและหินปูนได้ดีอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า ปลวกจะแบ่งแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจนในลักษณะแมลงสังคมชนิดหนึ่ง ปลวกมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ปลวกตัวผู้และตัวเมียในรัง ที่มีอายุ 3 ปี จะกระจายพันธุ์ไปนอกรังเพื่อจัดตั้งรังใหม่ปีละ 1-2 ครั้ง ระหว่างต้นฤดูฝนหลังฝนตกใหม่ๆ โดยบินจากรังเก่าในลักษณะแมลงเม่า ผสมพันธุ์แล้วสลัดปีกมุดลงดินเพื่อสร้างรังใหม่วนเวียนกันเช่นนี้ ดังนั้นปลวกจึงมีจำนวนมากมายและเป็นปัญหาใหญ่ยากที่จะกำจัดให้ หมดไปได้โดยง่าย วิธีการที่ทำได้คือการป้องกันไม่ให้ปลวกก่อความเสียหายแก่ทรัพย์สินต่างๆ เท่านั้น
ปลวกกรรมกร อาหารหลักของปลวก คือ เซลลูโลสที่ได้จากเนื้อไม้ การกัดทำลายสิ่งของที่มีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบก็เพื่อนำมาใช้เป็นอาหารและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ซากปลวกหรือวัตถุเหลวๆ ตามตัวปลวกยังใช้กินเป็นอาหารได้ นิสัยของปลวกใช้การสื่อสารโดยสัมผัสกันตลอดเวลาจึงเป็นช่องทางหนึ่งในการกำจัดปลวก หากปลวกได้สัมผัสสารพิษที่ใช้กำจัดจะถ่ายทอดสารพิษติดต่อถึงกันโดยง่ายและจะทำให้ปลวกตายทั้งหมดได้
การป้องกันกำจัดปลวก
สำหรับการป้องกันกำจัดปลวกที่ก่อความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย นอกจากการออกแบบอาคารให้พื้นบ้านสูงจากพื้นดินประมาณ 50 ซม. เลือกสถานที่และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่คุณภาพดี เช่น ไม้เนื้อแข็งต่างๆ แล้ว ควรจะได้รู้ถึงวิธีการกำจัดปลวกด้วยวิธีการง่ายๆ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. การป้องกันปลวกระหว่างการก่อสร้าง
1.1 ทำความสะอาดพื้นที่ที่ปลูกสร้างให้ปราศจากอาหารของปลวกเช่น เศษไม้ ตอไม้ พร้อมทั้งทำลายรังปลวก ทั้งตามพื้นดินและบนต้นไม้ แล้วจึงราดด้วยน้ำยากำจัดปลวก
1.2 ราดน้ำยาป้องกันกำจัดปลวกบนผิวดินในพื้นที่ที่จะปลูกสร้างอาคารตามอัตราที่กำหนดไว้ ตามฉลากก่อนที่จะเทพื้นคอนกรีตฐานรากอาคาร ควรราดน้ำยาพ้นออกรอบนอกตัวอาคารอีก 1 เมตร
1.3 โครงสร้างของอาคารที่ทำด้วยไม้ ต้องทาหรืออาบน้ำยาที่รักษาเนื้อไม้ให้ทั่ว
2. การกำจัดและป้องกันปลวกหลังการก่อสร้าง
2.1 สำรวจความเสียหายของอาคารบ้านเรือน หากเป็นปลวกอาศัยใต้ดิน ให้สังเกตท่อทางเดินและพยายามทำลายให้หมดอย่าให้ขึ้นสู่อาคารเช่น บริเวณโคนเสา รอยต่อระหว่างคอนกรีตกับไม้ ต้องพยายามหาตัวปลวกมาคลุกหรือพ่นสารเคมีแล้วปล่อยลงในท่อทางเดินตามเดิม อาศัยอุปนิสัยของปลวกที่ชอบเลียสัมผัสกันและกัน หรือกินซากปลวก ที่ตายทำให้สามารถกำจัดปลวกได้ทั้งรัง หากเป็นปลวกไม้แห้งนำไม้ที่มีปลวกมาเผาทิ้ง หรือใช้สว่านไฟฟ้าเจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. ลึก 3 ใน 4 ของความหนาของไม้ที่ปลวกทำลาย แต่ละรูห่างกัน 50-60 ซม. พ่นสารเคมีพิษเข้าในรู แล้วอุดรุด้วยไม้เนื้ออ่อนทิ้งไว้ 7 วัน ทำซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง
2.2 หากเป็นอาคารสร้างติดพื้นดิน ป้องกันปลวกจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคารด้วยการทำแนวป้องกันเคมีรอบอาคารโดยการขุดคูเล็กๆ ขนาดกว้าง 20 ซม. ลึก 30 ซม. รอบอาคารแล้วราดน้ำยาเคมีป้องกันปลวกลงในคูที่ขุดให้ทั่วพร้อมทั้งคลุกเคล้าดินไปด้วย เมื่อทำการกลบดินแล้ว ราดน้ำยาอีกครั้ง อนึ่งควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเลือกสารเคมีที่คุณภาพดีและปฏิบัติตามวิธีใช้ผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
วิธีการดังกล่าวข้างต้นอาจกำจัดปลวกไม่ได้ผลสมบูรณ์100% เนื่องจากจะต้องใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น สว่านไฟฟ้าเจาะพื้นคอนกรีตและไม้ ท่ออัดฉีดน้ำยากำจัดปลวกลงใต้ดิน เครื่องฉีดน้ำยาที่ใช้แรงอัดความดันสูง ดังนั้นในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ควรคำนึงถึงปัญหาปลวกที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา
การป้องกันกำจัดในขั้นต้น คือระยะการก่อสร้างอาคาร เพราะนอกจากจะทำได้ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังป้องกันความเสียหายจากปลวกที่จะเกิดขึ้นภายหลังอันมิอาจประเทินค่าได้ และยากต่อการแก้ปัญหาให้หมดไปในเวลาอันรวดเร็วด้วย
เอกสารอ้างอิง
จดหมายข่าว วท. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ปีที่ 3 ฉบับที่ 7 เดือนกรกฎาคม 2543 หน้า 6-8.